นักศึกษา ม.รามคำแหง กับมารยาทในการติดต่อสื่อสารกับอาจารย์

1. หากต้องการติดต่อกับอาจารย์ การไปพบด้วยตนเองจะดีที่สุด

2. เมื่อไปพบอาจารย์ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย

3. เมื่อพบกัน นศ.ควรกล่าวทักทาย แนะนำชื่อ สถานภาพ และธุระตนอย่างคร่าวๆ จากนั้น จึงสอบถามความสะดวกของอาจารย์ เพราะการพบกันครั้งแรกควรเป็นการเข้าพบเพื่อขอนัดวันหรือนัดเวลา ไม่ใช่ไปครั้งแรกแล้วจะต้องได้ทำธุระของตนเลย เช่น

- สวัสดีครับอาจารย์ ผมชื่อ สมพงษ์ เรียนวิชา CTH 4111 กับอาจารย์ครับ ผมจะมาขอดูคะแนนเก็บ ไม่ทราบว่า อาจารย์สะดวกเวลาไหนครับ
- สวัสดีค่ะ หนูชื่อ สมใจ เป็น นศ.วิชาเอกภาษาไทย จะมาขอคำปรึกษาเรื่องการลงเรียนวิชาเอกค่ะ อาจารย์พอจะมีเวลาไหมคะ

4. หากอาจารย์ไม่ว่าง นศ.ควรนัดหมายวันเวลาอื่น โดยยึดความสะดวกของอาจารย์เป็นหลัก

5. เมื่อเสร็จธุระ ควรกล่าวขอบคุณทุกครั้ง

6. หากอาจารย์ไม่อยู่ที่ห้อง ควรมาพบวันอื่น หรือสอบถามอาจารย์ท่านอื่นหรือเจ้าหน้าที่ว่า อาจารย์จะอยู่ช่วงไหน ทั้งนี้ควรใช้ภาษาสุภาพและนอบน้อม

7. หากจะมีบันทึกสั้น (note) ถึงอาจารย์ ให้เขียนแล้วใส่กล่องรับข้อความหน้าห้องหรือใส่ในลิ้นชักอาจารย์ (เช่นที่ตึก EOB ชั้น 1) ถ้าไม่มีกล่องรับข้อความ ควรฝากกับเจ้าหน้าที่ ไม่ควรติดแถบกาวบนประตู และควรใช้ข้อความเช่นดังนี้

เรียน ....(ชื่ออาจารย์ พร้อมตำแหน่งทางวิชาการ)
ดิฉัน ชื่อ-สกุล เลขประจำตัว เรียนวิชา... ในภาคเรียนที่... ปีการศึกษา.... มีความประสงค์จะ.... จึงขอความกรุณา....
ลงชื่อนศ.
ลงวันเวลาที่เขียนบันทึก
(บันทึกสั้นไม่ต้องมี "คำลงท้าย" เหมือนจดหมาย)

- นศ.อาจเขียนเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้อาจารย์ติดต่อกลับเป็นทางเลือกหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ใช่บังคับให้โทรกลับ
- นศ.อาจเขียนแจ้งไว้ว่า จะกลับมาพบอาจารย์อีกครั้งในวันใด แต่ไม่ใช่การบังคับให้อาจารย์อยู่รอ เพียงเป็นการแจ้งว่าจะมาหาอีกครั้ง หรือจะมารับงานกลับคืน หรือมาขอรับคำตอบ เป็นต้น

(ส่วนวิธีการแจ้งกลับนศ. อาจารย์จะเป็นผู้เลือกเอง เช่น อาจจะฝากเอกสารไว้กับเจ้าหน้าที่ หรือติดข้อความไว้หน้าประตู)

8. หาก นศ. ต้องการติดต่ออาจารย์ทางโทรศัพท์มือถือ ควรขอเบอร์และขออนุญาตจากอาจารย์ นศ.ไม่ควรขอเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์จากผู้อื่น เพราะเบอร์โทร.มือถือถือเป็นข้อมูลส่วนตัว การโทรถึงอาจารย์โดยได้เบอร์มาจากที่อื่นและการนำเบอร์โทรของอาจารย์ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาท

9. เมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่ออาจารย์ทางโทรศัพท์ (โดยได้รับเบอร์มาอย่างถูกต้องแล้ว) ควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณา ดังนี้

- ช่วงวันและเวลาราชการ ถือเป็นเวลาทำงานในฐานะอาจารย์ นศ.สามารถโทรติดต่อพูดคุยในเรื่องเรียนหรือกิจธุระที่เกี่ยวกับงานต่างๆ ได้ แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ อาจารย์ก็อาจติดสอน ติดประชุม หรือติดธุระอื่นได้ นศ.ควรสอบถามความสะดวก ก่อนพูดคุยกิจธุระ
- ช่วงเลิกงานและวันหยุด ถือเป็นเวลาส่วนตัว ก่อนเริ่มสนทนา นศ.ควรขอโทษที่โทรมารบกวน
- ช่วงเช้าตรู่หรือกลางดึก ไม่ควรโทรอย่างยิ่ง เว้นแต่ได้รับอนุญาต

10. การสนทนาทางโทรศัพท์ ควรเริ่มต้น ดังนี้

- ทักทายอาจารย์
- ขออภัยที่โทรมารบกวน
- แนะนำตัวอย่างสั้น

"ผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรีรามคำแหงครับ"
"หนูเป็นนักศึกษาที่เรียนวิชา CTH4111 กับอาจารย์ค่ะ"

- แจ้งจุดประสงค์อย่างย่อ

"ต้องการปรึกษาเรื่องการเรียนครับ"
"จะขอสอบถามเรื่องผลการเรียนค่ะ"

- ขอเวลาพูดรายละเอียดหรือขอนัดหมายเวลา

"อาจารย์สะดวกให้คำปรึกษาเวลานี้ไหมครับ"
"อาจารย์สะดวกให้เข้าพบเมื่อไรดีคะ"

- พูดรายละเอียด (ถ้าได้รับอนุญาต)
- กล่าวจบการสนทนาและกล่าวขอบคุณ

11. การส่งข้อความสั้น (SMS) ทางโทรศัพท์มือถือ เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง เว้นแต่ได้รับอนุญาต หรือได้แจ้งอาจารย์ไว้ล่วงหน้า หรือเป็นธุระด่วน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวทักทายหรือมีข้อความเยิ่นเย้อ แต่ควรลงชื่อตัวเองทุกครั้ง

การติดต่อในฐานะผู้น้อยสื่อสารกับผู้ใหญ่กรณีอื่น ก็ใช้แนวทางเทียบเคียงข้างต้น โดยปรับใช้ไปตามบุคคลและกาลเทศะให้เหมาะสม

 

รศ.ขันธ์ชัย อธิเกียรติ